การหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง

with-holding-tax

ยกเลิก การยกเว้นการหัก ณ ที่จ่ายสำหรับค่าเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2559 เป็นต้นไป

การให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งคือสัญญาให้เช่าทรัพย์สิน ซึ่งผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินและนำออกให้เช่าโดยให้คำมั่นว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิเลือกที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ให้เช่าก็ได้ จากความหมายดังกล่าวการเช่าแบบลีสซิ่งจึงถือเป็นการเช่าทรัพย์สินประเภทหนึ่งซึ่งโดยหลักผู้จ่ายค่าเช่าต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

            เดิมมีกฎหมายกำหนดให้การเช่าแบบลิสซิ่งที่เข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อดังต่อไปนี้ ได้รับยกเว้นไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายได้แก่ 

            1. ผู้ให้เช่าเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท

            2.ผู้เช่าเป็นนิติบุคคลและ

            3. มีระยะเวลาเช่าตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปหรืออาจไม่ถึง 3 ปีก็ได้หากทรัพย์สินที่ให้เช่า ผู้ให้เช่ายึดมาจากผู้เช่ารายอื่น

            อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา อธิบดีกรมสรรพากรออกคำสั่งยกเลิกข้อยกเว้นดังกล่าว นอกจากนี้ยังให้ยกเลิกความหมายของคำว่า “การให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง” ด้วยผลของคำสั่งฉบับนี้ทำให้การจ่ายค่าเช่าแบบลีสซิ่ง นิติบุคคลผู้จ่ายค่าเช่ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกกรณี

            อนึ่ง สำหรับการยกเลิกความหมายของคำว่า “สัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง”นั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเพียงการยกเลิกเพื่อให้สอดคล้องกับความมุ่งหมายที่จะยกเลิกการยกเว้นการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากการเช่าลักษณะนี้เท่านั้น ตราบใดที่การเช่าทรัพย์สินมีข้อกำหนดว่า เมื่อสัญญาครบกำหนดผู้เช่ามีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่ก็ได้ การเช่าเช่นนี้ก็ต้องถือว่าเป็นการเช่าแบบลีสซิ่งตามความหมายของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่นั่นเอง

            นอกจากนี้ โปรดสังเกตว่าคำสั่งฉบับนี้ใช้บังคับสำหรับการจ่ายค่าเช่าตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559 เป็นต้นไป ดังนั้น แม้ขณะทำสัญญาเช่าแบบลีสซิ่ง ผู้จ่ายค่าเช่าจะได้รับยกเว้นไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายก็ตาม แต่หากมีการจ่ายค่าเช่าตั้งแต่วันดังกล่าว ผู้จ่ายค่าเช่าต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกกรณี

            สำหรับอัตราภาษีที่ผู้จ่ายค่าเช่าต้องหักนั้นยังคงมี 4 อัตราได้แก่

            1. อัตราร้อยละ 15 สำหรับกรณีผู้ให้เช่าไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเป็นผู้ซึ่งไม่ได้อยู่ในประเทศไทย

            2. อัตราร้อยละ 10 สำหรับกรณีผู้ให้เช่าเป็นมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้

            3. อัตราร้อยละ 5 สำหรับกรณีผู้ให้เช่าเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการในประเทศไทย

            4. อัตราร้อยละ 1 สำหรับกรณีผู้ให้เช่าเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับค่าเช่าเรือที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชย์นาวี(คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.๒๕๙/๒๕๕๒ เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙)

เขียนโดย fcaccount